บทความนี้ให้ภาพรวมอย่างย่อเกี่ยวกับเครื่องดื่มเชิงหน้าที่ (Functional beverages) ทั้งเรื่องนิยาม กฎระเบียบ การตลาด ความก้าวหน้าทางวิชาการโดยเน้นตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีในท้องตลาด และประโยชน์ต่อสุขภาพ เครื่องดื่มเชิงหน้าที่เป็นกลุ่มอาหารเชิงหน้าที่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เนื่องจากความสะดวกที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทั้งเรื่องภาชนะบรรจุ ขนาดบริโภค รูปร่างและรูปลักษณ์ที่ปรากฎต่อสายตา รวมถึงความง่ายในการกระจายสินค้า และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งแบบแช่เย็นและแบบวางที่อุณหภูมิห้องปกติ ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องดื่มเชิงหน้าที่มีสารประกอบที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย โดยสามารถแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ในตลาดปัจจุบันได้ดังนี้
- กลุ่มที่มีนมเป็นองค์ประกอบ เครื่องดื่มเสริมโพรไบโอติก และเครื่องดื่มเกลือแร่
- กลุ่มเครื่องดื่มผักและผลไม้
- กลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงานและเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา
งานวิจัยเกี่ยวกับอาหารเชิงหน้าที่ได้รับความสนใจมากในงานวิจัยและนวัตกรรมสาขาอาหาร จากการสำรวจวรรณกรรมด้านนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ถึงประมาณปี ค.ศ. 2014 สามารถจัดกลุ่มได้ดังนี้
- การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ที่มีสมบัติเชิงหน้าที่ เช่น แบคทีเรียผลิตกรดแลกทิก (Lactic acid bacteria ; LAB)
- การหาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตและสูตรเครื่องดื่มเชิงหน้าที่
- การใช้พรีไบโอติกและซินไบโอติก
- การใช้และแปรรูปวัตถุปรุงแต่งอาหารที่มาจากธรรมชาติ
- การใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและผลไม้โดยนำมาใช้เป็นวัตถุปรุงแต่งอาหารเชิงหน้าที่
- การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การแปรรูปโดยใช้ความดันสูง (High pressure processing ; HPP) การใช้สนามไฟฟ้าแบบพัลส์ (Pulsed electric fields ; PEF) มาปรับปรุงการผลิตเครื่องดื่มโดยยังคงสมบัติทางประสาทสัมผัสและสมบัติเชิงหน้าที่
ที่มา : Maria Rosaria Corbo, Antonio Bevilacqua, Leonardo Petruzzi, Francesco Pio Casanova and Milena Sinigaglia. Functional Beverages: The Emerging Side of Functional Foods - Commercial Trends, Research, and Health Implications. Comprehensive Reviews in Food Science and Food Safety. Vol. 13 No. 6 Year 2014 pp. 1192-1206. ISSN : 1541-4337 (online) doi : 10.1111/1541-4337.12109
Information File No. : IF 31 (201)