การศึกษาความเป็นพิษของไกลโฟเซตทางการค้า ต่อการเคลื่อนที่ ขนาดของลำตัว การสืบพันธุ์ และกิจกรรมของเอนไซม์ catalase ของไรแดง Moina macrocopa

ชื่อเรื่อง : การศึกษาความเป็นพิษของไกลโฟเซตทางการค้าต่อการเคลื่อนที่ ขนาดของลำตัว การสืบพันธุ์และกิจกรรมของเอนไซม์                    catalase ของไรแดง Moina macrocopa

ชื่อผู้แต่ง : หัทยา จิตรพัสตร์  ณัฐยา วธาวนิชกุล  และปทุมพร เมืองพระ

แหล่งที่มา : วารสารวิจัยและพัฒนา มจธ. ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 เมษายน - มิถุนายน 2558 หน้า 133-143

บทคัดย่อ : 

          สารกำจัดวัชพืชชนิดไกลโฟเซตในชื่อการค้าว่าราวด์อัพ เป็นที่นิยมใช้ในประเทศไทยและมีการชะลงสู่แหล่งน้ำ ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต แต่ข้อมูลผลกระทบต่อสรีระ ชีวเคมี และการสืบพันธุ์ของแพลงก์ตอนสัตว์น้ำจืดยังมีน้อย งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของราวด์อัพต่อการเคลื่อนที่ และพิษเรื้อรังของราวด์อัพต่อการเจริญเติบโต ต่อกิจกรรมของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ catalase ที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัดสภาวะความเครียดออกซิเดชัน และความดกของลูกไรแดง (Moina macrocopa) โดยนำตัวอ่อนไรแดงอายุไม่เกิน 1 วัน ไปสัมผัสราวด์อัพความเข้มข้น < EC25 (2, 20, 200 และ 2000 ไมโครกรัมต่อลิตร) เป็นเวลา 7 วัน ผลการศึกษาพบว่า ค่า EC50 ของราวด์อัพต่อการเคลื่อนที่ของไรแดงในเวลา 48 ชั่วโมง มีค่า 3.97 มิลลิกรัมต่อลิตร สำหรับความเป็นพิษเรื้อรัง พบว่า ความเข้มข้นและเวลามีผลต่อขนาดของไรแดง โดยความยาวลำตัวของไรแดงมีค่าเพิ่มขึ้น ยกเว้นในวันที่ 7 ส่วนผลการทดสอบจำนวนลูกทั้งหมดที่เกิดหลังได้รับสาร 7 วัน พบว่า ความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นไม่มีผลต่อความดกของลูก แต่ที่ความเข้มข้น 2 ไมโครกรัมต่อลิตร มีผลทำให้จำนวนลูกครอกแรกเพิ่มขึ้นสูงสุด และราวด์อัพมีผลต่อกิจกรรมของเอนไซม์ catalase เมื่อตัวอ่อนไรแดงสัมผัสสาร เป็นเวลา 48 ชั่วโมง ตั้งแต่ความเข้มข้น 200 ไมโครกรัมต่อลิตร แสดงให้เห็นว่า การปนเปื้อนของราวด์อัพปริมาณน้อยในแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อขนาดไรแดง และกิจกรรมของเอนไซม์ catalase แต่ไม่มีผลต่อความดกของลูก

 

#Glyphosate #ไกลโฟเซต #ราวด์อัพ

Search