ปัญหาขยะล้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขวดพลาสติกใสที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม ตลอดจนเครื่องดื่มต่างๆ ที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม (soft drink) ที่ถูกทิ้งปริมาณมหาศาลในแต่ละวัน ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในประเด็นเรื่องความปลอดภัยของการนำกลับมาใช้ซ้ำในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสกับอาหารโดยตรง

.

รองศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)ว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวนกว่า 2,000 ราย พบว่า แม้ในปัจจุบันได้มีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกเพื่อลดโลกร้อนกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังคงพบว่ามีการใช้พลาสติกบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารโดยตรงแบบแยกย่อยเป็นถุงเล็กถุงน้อย รวมทั้งแก้วพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มเย็น ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณขยะได้มากกว่าประเทศอื่นที่ส่วนใหญ่นิยมใช้บรรจุเป็นแพคเกจรวมสำหรับ 1 มื้อต่อผู้บริโภค 1 คน

.

นอกจากนี้ เมื่อได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการนำขวดพลาสติกใสชนิด Polyethylene Terephthalate (PET) กลับมาใช้ซ้ำแบบ reuse ของคนไทย พบว่า ในจำนวนผู้นำมาใช้ซ้ำกว่าร้อยละ 50 นำไปใช้บรรจุอย่างอื่นที่ไม่ใช่น้ำดื่มหรืออาหาร เช่น ประมาณเกือบร้อยละ 50 ของการใช้ซ้ำนำไปใส่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า) สารเคมีทางการเกษตรเกือบร้อยละ 10 (เช่น น้ำหมักชีวภาพและน้ำส้มควันไม้) และผลิตภัณฑ์อาบน้ำและดูแลร่างกาย (ได้แก่ สบู่เหลว แชมพู)

.

ส่วนผลิตภัณฑ์ดูแลเครื่องยนต์ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำยาล้างรถ พบว่ามีการนำขวดใสไปเติมเก็บไว้ใช้บ้างแต่ไม่มาก จึงเป็นที่น่าเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย หาก rPET (recycled Polyethylene Terephthalate) ได้รับการปลดล็อกให้นำกลับมาใช้ซ้ำในฐานะบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสกับอาหารโดยตรง

.

เพื่อสนองรับนโยบาย BCG ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดคุณค่าและมูลค่าสูงสุดอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงรับหน้าที่ประเมินและตรวจสอบเพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับแนวทางการปรับใช้ประกาศดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ถึงความปลอดภัย และตรงตามเป้าหมายของการพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด

.

รองศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

จากการวิจัยในช่วงปี 2563 - 2564 ได้ผลสรุปว่า rPET สามารถนำกลับมาใช้ได้สำหรับเป็นวัสดุสัมผัสอาหารโดยตรง แต่ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยว่ากระบวนการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพ ในการกำจัดสารตกค้าง หรือสารปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยโดยเม็ดพลาสติกที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลจะต้องมีคุณภาพเทียบเท่ากับพลาสติกใหม่ (virgin PET)

.

หากไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องมีมาตรการลดการปนเปื้อน หรือลดโอกาสที่สารตกค้างจะแพร่กระจายไปยังอาหาร เช่นมีที่คั่นกั้นขวางไม่ให้สัมผัสอาหารโดยตรง หรือลดสัดส่วนของ rPET โดยผสม virgin PET เป็นต้น

.

ในขณะเดียวกันยังมีทางเลือกอื่นที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไปได้ หากสามารถนำไปผ่านเทคโนโลยีการแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นของใช้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น สิ่งทอ ในรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

.

แม้การปลดล็อกทางกฎหมายจะเป็นเสมือนการเปิดโอกาสให้ rPET ถูกนำกลับมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร แต่ยังคงต้องรอการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญจากคณะอนุกรรมการของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข อยู่ โดยพิจารณาตามข้อกำหนดคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยที่อุตสาหกรรมจะยื่นขออนุญาตต่อไป

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000083783