e
ดวงจันทร์เอนเซลาดัสมีความกว้าง 500 กิโลเมตร ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งทั้งหมด
ดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์นั้น ขึ้นชื่อว่ามีศักยภาพในการหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตมากที่สุดในระบบสุริยะของเรา เนื่องจากเคยมีการค้นพบสารอินทรีย์หลายชนิดที่สามารถเป็น “สารตั้งต้น” ในการให้กำเนิดชีวิตมาแล้ว
.
ล่าสุดรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า มีการค้นพบธาตุฟอสฟอรัส (P) ในรูปของสารประกอบฟอสเฟตบางชนิดบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบแร่ธาตุสำคัญดังกล่าว ภายในมหาสมุทรของดาวดวงอื่นนอกเหนือจากโลก
.
ทีมนักวิจัยนานาชาติ นำโดยดร. แฟรงก์ โพสต์เบิร์ก จากมหาวิทยาลัย Free University of Berlin ของเยอรมนี ระบุว่าพบสารอินทรีย์ฟอสเฟตในเกล็ดน้ำแข็ง ซึ่งยานแคสสินีเก็บได้จากวงแหวนของดาวเสาร์ โดยพวกเขาสันนิษฐานว่า มันมาจากไอน้ำร้อนที่พวยพุ่งขึ้นจากมหาสมุทรใต้พื้นผิวน้ำแข็งของเอนเซลาดัส
.
สารอินทรีย์ฟอสเฟตดังกล่าวมีความเข้มข้นมาก จนคาดได้ว่าน่าจะมีอยู่ในมหาสมุทรของเอนเซลาดัส ในปริมาณที่สูงกว่ามหาสมุทรบนโลกถึงกว่า 100 เท่า
.
“เราพบเกลือชนิดโซเดียมฟอสเฟต (NA3PO4) ซึ่งละลายน้ำได้ ปะปนอยู่ในน้ำจากมหาสมุทรของเอนเซลาดัสในปริมาณมาก ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่า มหาสมุทรต่างดาวแห่งนี้จะต้องมีฟอสฟอรัส หนึ่งในหกธาตุสำคัญที่เป็นองค์ประกอบของสารอินทรีย์อยู่ในระดับสูงอย่างแน่นอน” ทีมผู้วิจัยกล่าว
.
ภาพจากยานแคสสินี แสดงให้เห็นไอน้ำร้อนพวยพุ่งที่ขั้วใต้ของเอนเซลาดัส
ดวงจันทร์เอนเซลาดัสซึ่งโคจรอยู่ภายในวงแหวนของดาวเสาร์ มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกถึง 7 เท่า โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 500 กิโลเมตร ทั้งยังมีพื้นผิวถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งทั้งหมด แต่มีความแปลกประหลาดตรงที่ขั้วใต้ของดาวมีน้ำพุร้อนพวยพุ่งขึ้นมาจากมหาสมุทรใต้ผืนน้ำแข็งหนา 20 กิโลเมตร
.
ล่าสุดกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) สามารถจับภาพไอน้ำร้อนที่พวยพุ่งขึ้นมาได้สูงถึง 9,600 กิโลเมตรในห้วงอวกาศ ซึ่งเท่ากับระยะทางจากสหราชอาณาจักรไปถึงประเทศญี่ปุ่น
.
น้ำพุร้อนจากก้นมหาสมุทรนี้เกิดขึ้นเพราะแรงไทดัลระหว่างเอนเซลาดัสกับดาวเสาร์ ซึ่งทำให้แก่นกลางภายในของดาวบริวารยังคงร้อนจัด แม้พื้นผิวจะเย็นยะเยือกจนเป็นน้ำแข็งทั้งหมดก็ตาม
.
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ จับภาพไอน้ำที่พวยพุ่งออกมาไกลถึง 9,600 กม. จากมหาสมุทรใต้ผืนน้ำแข็งได้
เมื่อปี 2019 องค์การนาซาเผยผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ยานแคสสินีตรวจจับได้ว่า ไอน้ำร้อนที่พวยพุ่งขึ้นมาดังกล่าว มีสารอินทรีย์ชนิดละลายน้ำได้ปะปนอยู่หลายชนิด ซึ่งที่มีทั้งไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ
.
ทีมนักชีวดาราศาสตร์ของนาซาชี้ว่า สารอินทรีย์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการผลิตกรดอะมิโน ซึ่งเป็นโมเลกุลพื้นฐานที่นำไปสู่การสร้างโปรตีน อันเป็นสารตั้งต้นที่ให้กำเนิดสรรพชีวิตบนโลก
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/ckml6828k7ro