ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นทุกวันเช่นนี้ การคิดค้นวิธีใหม่ ๆ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวมีความสำคัญอย่างยิ่ง ล่าสุดทีมนักวิจัยญี่ปุ่นพบว่า การนำออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดผ่านช่องทางพิสดารอย่างรูทวารหนัก สามารถช่วยชีวิตสัตว์บางชนิดเช่นหมูและหนูทดลองที่มีโครงสร้างร่างกายคล้ายคลึงกับมนุษย์ได้

วิธีการดังกล่าวซึ่งอาจเรียกได้ว่า "หายใจทางก้น" ถูกนำมาพิจารณาเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยชีวิตผู้มีภาวะขาดออกซิเจน แต่ไม่สามารถใช้เครื่องช่วยหายใจหรือปอดเทียมรักษาได้ เนื่องจากคนผู้นั้นตกอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือเครื่องช่วยหายใจและยาสลบที่ต้องใช้ร่วมกันนั้นทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อปอดที่บอบบาง
.
ดร. นพ. ทาคาโนริ ทาเคเบะ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์กรุงโตเกียว (TMDU) เผยว่าได้แนวคิดเรื่องการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายทางลำไส้จากปลาน้ำจืดบางชนิด ซึ่งปลาดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตด้วยการหายใจแบบประหลาดนี้ได้
.
เริ่มแรกนั้นมีการผ่าตัดใส่เครื่องช่วยหายใจขนาดเล็กเข้าไปในทวารหนักของหนูทดลอง แต่วิธีนี้จะต้องมีการขัดถูผนังลำไส้เพื่อนำเมือกที่เคลือบอยู่ออกเสียก่อน ออกซิเจนจึงจะสามารถซึมผ่านเยื่อบุผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งวิธีรุนแรงนี้ทำให้หนูทดลองมีอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก

.

.

ทีมผู้วิจัยจึงหันมาทดลองใช้วิธีใหม่ โดยนำของเหลว "เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน" (PFC) ซึ่งอิ่มตัวด้วยออกซิเจนมาสวนทวารแทน เนื่องจากก่อนหน้านี้สารดังกล่าวถูกนำมาใช้รักษาปอดของทารก และถูกใช้ในการทดลองให้มนุษย์หายใจด้วยของเหลวมาแล้ว โดยไม่เป็นพิษหรือมีอันตรายแต่อย่างใด
.
คราวนี้มีการทดลองนำหมู 4 ตัวมาใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อปรับให้พวกมันมีอัตราการหายใจที่ต่ำลงกว่าปกติ จากนั้นจึงทดลองสวนทวารหมู 2 ตัวด้วยสาร PFC ที่มีออกซิเจนอยู่เข้มข้น โดยเปลี่ยนถ่ายของเหลวดังกล่าวใหม่ทุกชั่วโมง
.
ผลปรากฏว่าหมูที่ได้รับการสวนทวารมีระดับออกซิเจนในกระแสเลือดสูงขึ้น หลังสาร PFC เข้าสู่ลำไส้ทุกครั้ง ส่วนหมูอีก 2 ตัวที่ได้รับการผ่าตัดใส่หลอดบรรจุสาร PFC ในลำไส้โดยตรง ก็มีระดับออกซิเจนในร่างกายสูงขึ้นเช่นกัน ผิวหนังของหมูทั้ง 4 ตัวอบอุ่นขึ้นและมีเลือดฝาดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย
.
ส่วนหนูทดลองที่อยู่กล่องปิดซึ่งมีอากาศหายใจเบาบาง กลับมีระดับออกซิเจนในร่างกายสูงขึ้น วิ่งไปมาได้นานขึ้น และออกซิเจนยังเข้าสู่หัวใจมากขึ้น เมื่อได้รับการสวนทวารด้วยสาร PFC ดังกล่าว
.
อย่างไรก็ตาม ยังจะต้องมีการศึกษาทดลองกันต่อไปอีกหลายปี เพื่อยืนยันว่าวิธีการนี้ได้ผลและปลอดภัยสำหรับมนุษย์จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยหนักที่การทำงานของลำไส้ผิดปกติ
.

ที่มา  : BBC News ไทย https://www.bbc.com/thai/international-57130150