ไวรัสไข้หวัดมะเขือเทศถูกพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเป็นส่วนใหญ่
กระทรวงสาธารณสุขกำลังติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ ภายหลังพบเด็กชาวอินเดียติดเชื้อแล้วกว่า 100 ราย
.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) มอบหมายให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) แม้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในไทย แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากขณะนี้ไทยเปิดประเทศรับผู้เดินทางจากทั่วโลก รวมถึงประเทศที่มีการระบาดของโรค จึงต้องประเมินสถานการณ์ เตรียมแนวทางการคัดกรองและรักษากรณีพบผู้ป่วย
.
น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยข้อสั่งการของ รมว.สธ. ในวันนี้ (27 ส.ค.) ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขอินเดียแจ้งเตือนพลเมืองให้ระมัดระวังการระบาดของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ เนื่องจากพบผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกือบ 100 ราย
.
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเบื้องต้นที่มีขณะนี้ รองโฆษกรัฐบาลยืนยันว่าสถานการณ์ของโรคไม่น่ากังวล เนื่องจากการแพร่ระบาดยังอยู่ในวงจำกัด ขณะที่กระบวนการคัดครองและรักษาในประเทศก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับการรักษาโรคมือเท้าปากในเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจคัดกรองและยารักษาอยู่ในสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำในเด็กเล็ก และมักเกิดขึ้นมากในช่วงฤดูฝน จึงขอให้ผู้ปกครองให้ความระมัดระวังดูแลบุตรหลานด้วย
.
ที่มาของไข้หวัดมะเขือเทศ
.
โรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เมื่อ 6 พ.ค. 2022 โดยกระทรวงสาธารณสุขอินเดียยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรกในอำเภอโกลลัม รัฐเกรละ
.
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดมะเขือเทศ ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก โดยระบุถึงการติดเชื้อในเด็กหญิงวัย 13 เดือน และพี่ชายวัย 5 ขวบจากประเทศอังกฤษ ซึ่งบิดาและมารดาได้พาเด็ก ๆ ไปเยี่ยมญาติที่ประเทศอินเดียเป็นเวลา 1 เดือน โดย 1 สัปดาห์หลังกลับจากรัฐเกรละในเดือน พ.ค. เกิดมีผื่นขึ้นที่มือและขา เหมือนไข้หวัดมะเขือเทศ
.
ครอบครัวนี้ได้รับทราบจากสื่อท้องถิ่นในรัฐเกรละรายงานเกี่ยวกับอาการป่วยลึกลับในเด็ก ซึ่งถูกขนานนามว่า "ไข้หวัดมะเขือเทศ" พ่อแม่เด็กแจ้งว่าลูกของเขาได้เล่นกับเด็กอีกคนหนึ่งที่เพิ่งหายจากไข้หวัดมะเขือเทศ 1 สัปดาห์ก่อนเดินทางกลับ และหลังกลับถึงอังกฤษ เด็กทั้ง 2 ก็ป่วย มีอาการไข้ออกผื่น ลักษณะเดียวกับไข้หวัดมะเขือเทศ
.
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ยังอ้างถึงข้อค้นพบของ ดร. จูเลียน ถัง จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในสหราชอาณาจักรและเพื่อนร่วมงาน ที่ทำการสวอปตุ่มน้ำและลำคอของ 2 ผู้ป่วยไปตรวจ PCR พบว่าไม่ใช่ไวรัสฝีดาษลิง แต่เป็นไวรัสในกลุ่มของเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก และจากการถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าเป็นไวรัสคอกซากี เอ 16 (Coxsackie A16) โดยมีรหัสพันธุกรรมคล้ายกับคอกซากี A16 สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศจีน จึงไม่ใช่ไวรัสชนิดใหม่ หรือสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด
.
โรคติดเชื้อไวรัสนี้ถูกตั้งชื่อว่า “ไข้หวัดมะเขือเทศ” โดยคนท้องถิ่นที่พบเห็นอาการของผู้ติดเชื้อ หากเป็นเด็กเล็กจะมีผื่นสีแดงขึ้นตามตัว จึงตั้งชื่อเรียกเลียนแบบรูปลักษณ์ของมะเขือเทศ
.
ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามหาสาเหตุของโรคอยู่ อย่างไรก็ตามบทความที่เผยแพร่ผ่าน เดอะ แลนเซต (The Lancet) วารสารการแพทย์ของอังกฤษระบุว่า โรคดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) แม้ผู้ป่วยจะแสดงอาการคล้ายกันก็ตาม
.
อาการของโรค
.
ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานจากการมีไข้สูง ร่วมด้วยการปวดท้อง ปวดข้อ ท้องร่วง และอื่น ๆ
ผู้ติดเชื้อไข้หวัดมะเขือเทศ จะมีตุ่ม ผื่นแดง และแผลพุพองขึ้นตามตัว สร้างความเจ็บปวดเวลาสัมผัส
.
ส่วนอาการอื่น ๆ ของโรคที่อาจมีร่วมด้วย ได้แก่ เหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง มีไข้ ปวดข้อ และปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งคล้ายกับอาการของไข้หวัดทั่วไป
.
ใครคือกลุ่มเสี่ยง
.
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายเป็นพิเศษ เพราะไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาดที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งหรืออุจจาระของผู้ติดเชื้อ หรือนำสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสนี้เข้าปาก
.
สถานการณ์การแพร่ระบาด
.
ถึงขณะนี้มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดมะเขือเทศในอินเดียอย่างน้อย 100 คน ในจำนวนนี้มี 82 คนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
.
สำหรับพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดสูงสุดคือ รัฐเกรละ รองลงมาคือ รัฐทมิฬนาฑู รัฐโอริสสา และรัฐหรยาณา
.
แม้กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียออกมายืนยันว่าโรคนี้ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้ออกประกาศแนวทางการป้องกัน การตรวจเชื้อ และการรักษาโรคให้แก่ทุกรัฐถือปฏิบัติ หากใครสงสัยว่าติดเชื้อ ให้กักตัวเป็นเวลา 5-7 วันหลังมีอาการ นอกจากนี้ยังกระตุ้นเตือนให้ผู้ปกครองช่วยกันเฝ้าระวังอาการของบุตรหลานเป็นพิเศษ
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c99pjlzq4pno