ยาพิษไร้สีไร้กลิ่น ปริมาณน้อยก็ถึงตาย เรียกได้ว่า "ยาพิษสมบูรณ์แบบ"

รู้ไหมว่าสารพิษบางตัวปริมาณแค่ 2 กิโลกรัม ก็เพียงพอจะทำให้ประชากรโลกเสียชีวิต

เมื่อคิดถึงยาพิษอันตรายถึงตาย ความคิดเรามักจะคิดไปถึงสารหนูก่อนเป็นลำดับแรก ๆ เพราะเชื่อว่าเป็นอาวุธสังหารบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษ, นโปเลียน โบนาปาร์ต (จักรพรรดินโปเลียนที่ 1) แห่งฝรั่งเศส ไปจนถึงสมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี่ (Gaungxu) แห่งราชวงศ์ชิงของจีน เพราะในอดีตนั้น มีการใช้สารหนู ทั้งเป็นยารักษา และอื่น ๆ มากมาย

แต่จริง ๆ แล้ว เมื่อกาลเวลาผ่านไป ยาพิษที่ถูกพูดถึงก็เพิ่มมากขึ้น และร้ายแรงมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากนวนิยาย และมังงะ (หนังสือการ์ตูน) ญี่ปุ่น ยกตัวอย่าง “นักสืบจิ๋วโคนัน” ที่อ่านไปไม่ถึง 5 เล่ม ก็มีการพูดถึงยาพิษไร้สีไร้กลิ่น อย่างไซยาไนด์แล้ว

.

หนังสือชื่อ “รสชาติแห่งยาพิษ” (A Taste of Poison) ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2022 และเขียนโดยศาสตราจารย์ นีล แบรดบูรี นักวิทยาศาสตร์และนักชีวฟิสิกส์ ได้อธิบายถึงพิษ 11 ชนิด ที่เหล่าอาชญากร และฆาตกรได้ใช้เพื่อสังหารเหยื่อ

.

บีบีซีไทย จะพาไปทำความรู้จัก ยาพิษ 3 ชนิดที่ แบรดบูรี มองว่า เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน

.

*หมายเหตุ: บทความนี้ เป็นการพูดถึงฤทธิ์และอันตรายของยาพิษแต่ละชนิด บีบีซีไม่ขอลงรายละเอียด ถึงการให้ได้มาซึ่งสารเหล่านี้

.

สารหนู (Arsenic) “ราชาแห่งยาพิษ”

.
“สารหนูเป็นเจ้าของสถิติในฐานะยาพิษที่มีการใช้มายาวนานและเลื่องชื่อที่สุดในโลก” แบรดบูรี ระบุในหนังสือของเขา

.

ในศตวรรษที่ 19 การวางยาพิษด้วยสารหนู คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการวางยาพิษทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า หาได้ง่าย มีการใช้งานที่หลากหลายทั้งรักษาเนื้อไม้ในอุตสาหกรรมไม้อัด กำจัดศัตรูพืช ไปจนถึงในของเล่นสำหรับเด็กก็มี

.

สำหรับฆาตกรที่ตั้งใจวางยาพิษคนอื่น สารหนูมีความพิเศษที่การใช้เพียงครั้งละไม่มาก ให้เหยื่อตายอย่างช้า ๆ เพราะเมื่อรับสารหนูเข้าไปในร่างกายแล้ว (ปริมาณไม่มาก) จะก่อให้เกิดอาการท้องเสีย เป็นไข้ อาหารเป็นพิษ อาเจียน และเจ็บท้อง เป็นต้น

.

สารหนู เรียกได้ว่า “ราชาแห่งยาพิษ”

การได้รับสารหนูในปริมาณเล็กน้อยติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น การบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน จะส่งผลเรื้อรังและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรงได้ จนกระทั่งอวัยวะล้มเหลวจนตาย

.

เว็บไซต์พบแพทย์ (Pobpad) ระบุว่า ปริมาณสารหนูที่ถือว่าอันตรายสำหรับร่างกายคนเราคือปริมาณ 1.5-500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่หากได้รับในปริมาณ 130 มิลลิกรัมก็ทำลายระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย

.

ดอมินิก เบอร์เจส พิธีกรคอลัมน์ บริตแลบ (BritLab) ของบีบีซี ฟิวเจอร์ อธิบายว่า สารหนูเพียง 200 มิลลิกรัม หรือหนักเท่าเมล็ดฝน ก็ฆ่าคนได้แล้วใน 2 ชั่วโมง “หยดเดียว ก็รู้สึกเหมือนอวัยวะภายใน มันจะพุ่งทะลุออกมาข้างนอก” เขากล่าว

.

“200 มิลลิกรัม ร่างกายจะเริ่มเกิดอาการ เริ่มจากรู้สึกถึงรสเหล็กในปาก อาเจียนรุนแรง ท้องเสีย แล้วราว 2 ชั่วโมง คุณก็ตาย” เบอร์เจส อธิบาย แต่ถ้าร่างกายรับไป 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ก็ถือว่ายังไม่อันตรายนัก เพราะคนที่ดื่มน้ำประปาที่ไม่ผ่านการกรอง มักจะได้รับสารหนูเข้าร่างกายในปริมาณนี้

.

การรักษาผู้ที่ได้รับสารหนูนั้นสามารถทำได้ อาทิ ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้พิษเจือจาง หากได้รับสารหนูจากการดื่มหรือรับประทาน แต่หากหายใจเข้าไป ก็ต้องไปยังที่อากาศบริสุทธิ์ เพื่อให้ร่างกายรับอากาศดีเข้ามามากขึ้น

.

แบรดบูรี ระบุต่อในหนังสือว่า สารหนูนั้นพบได้ตามธรรมชาติ บางครั้งก็ปนเปื้อนในน้ำบาดาล มนุษย์ยังฉีดสารหนูเข้าไปในไก่ เพื่อให้ไก่ดูอวบและเนื้อสีชมพู อย่างไรก็ดี การกระทำเช่นนี้สุดสุดมานานตั้งแต่ปี 2013 แล้ว หลังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า สารหนูก่อให้เกิดมะเร็งและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้

.

ไซยาไนด์ (Cyanide) อาวุธฆาตกรรมยอดนิยม

.
สำหรับแบรดบูรีแล้ว ยาพิษอย่างไซยาไนด์มีชื่อเสียงอย่างมาก จากบทบาทในนวนิยายและภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบสวนและหนังสายลับ ไม่เพียงเท่านั้น นาซีเยอรมันยังใช้ไซยาไนด์ในการสังหารนักโทษในค่ายมรณะด้วย

.

ไม่ต่างจากสารหนู ไซยาไนด์เป็นสารพิษที่พบได้ทั่วไปในพืชหลากหลายชนิด รวมถึงพบในสารสังเคราะห์สำหรับสีฟ้าอีกด้วย

.

ไซยาไนด์ ไร้สี ไร้กลิ่น

ผู้ประพันธ์ “รสชาติแห่งยาพิษ” อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้ไซยาไนด์เป็น “ยาพิษสมบูรณ์แบบ” นั่นก็เพราะมันไร้รสชาติ และมีศักยภาพสังหารสูง เพียงสัดส่วน 1 ใน 500 ช้อนชา ก็ทำให้ผู้ใหญ่เสียชีวิตได้แล้ว

.

เมื่อรับสารไซยาไนด์เข้าไปแล้ว ตัวสารจะเข้าไปเกาะกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เซลล์ทำงานล้มเหลวในการผลิตพลังงานไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ฤทธิ์ของมันจะคล้ายสารหนู แต่ไซยาไนด์ออกฤทธิ์เร็วกว่ามาก เพราะเป็นอันตรายต่อหัวใจได้ในทันที

.

อาการแรกเริ่ม คือ ปวดหัวอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ตามด้วยอาการหมดสติ เข้าขั้นโคม่า และหัวใจหยุดเต้น จนเสียชีวิต

.

ยาแก้พิษไซยาไนด์มีเช่นกัน แต่ต้องได้รับแทบจะในทันที ที่รับสารไซยาไนด์ในปริมาณอันตรายเข้าร่างกาย ส่งผลให้การรับสารไซยาไนด์โดยไม่ตั้งใจ 95% ล้วนนำไปสู่การเสียชีวิต

.

สตริกนิน (Strychnine) ยาพิษที่ “ชั่วร้าย”

.
แบรดบูรี เรียก สตริกนิน ว่า “ยาพิษที่ชั่วร้ายที่สุด” แต่กลับเป็นที่โปรดปรานของนักเขียนนวนิยายชื่อดัง อย่าง อกาธา คริสตี ถ้าคุณเป็นคนชอบหนังคลาสสิก คงจำได้ว่า ยาพิษนี้เป็นสิ่งที่ ตัวเอก นอร์แมน เบตส์ ใช้กับมารดาของเขาในภาพยนตร์ “ไซโค” (Psycho)

.

สตริกนิน เป็นสารกลุ่ม alkaloid เริ่มใช้กันเพื่อฆ่าหนูในหมู่พ่อค้าแม่ค้า แต่เมื่อฤทธิ์การสังหารของมันเริ่มเป็นที่พูดถึง การใช้เป็นอาวุธสังหารก็ตามมา

.

“รสชาติแห่งยาพิษ” (A Taste of Poison) เผยแพร่เมื่อปี 2022

.

“สตริกนิน ทรมานเหยื่อ ทำให้กล้ามเนื้อกระตุกชักอย่างเจ็บปวด จนความตายคือสิ่งที่ฉุดพวกเขาขึ้นมาจากความทรมานเหมือนรกบนดิน”

.

หลังได้รับสารพิษตัวนี้เข้าไป กล้ามเนื้อจะเริ่มกระตุกแรงขึ้นเรื่อย ๆ กล้ามเนื้อบนใบหน้าบีบอัดจนเหมือน “ยิ้มอย่างเจ็บปวด” ส่วนกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งแข็งแกร่งกว่ากล้ามเนื้อหน้าท้อง จะบีบรัดจนตัวขดเป็นรูปตัวยู เหมือนกุ้ง และเมื่อกระบังลมไม่ทำงาน ความตายก็มาถึง

.

เหยื่อที่ได้รับยาพิษนี้เข้าไป ยิ่งทรมานมากขึ้น เพราะพวกเขาจะรับรู้ถึงการหายใจเข้าออกได้อย่างแจ่มชัด เหมือนประสาทสัมผัสแหลมคมมากขึ้น นั่นหมายความว่า พวกเขารับรู้อย่างชัดเจนว่า ความตายกำลังจะมาถึง

.

และที่สำคัญ ไม่มียาแก้พิษสารพิษตัวนี้ ช่วยบรรเทาได้เพียงยาคลายกล้ามเนื้อ และแวเลียม เพื่อลดอาการชักกระตุก ซึ่งหากไม่ได้รับตัวยาเหล่านี้แทบจะในทันที ก็แทบไร้หนทางช่วยเหลือ

.

โพโลเนียม ตัวสังหารสายลับรัสเซีย

ปกติ โพโลเนียม-210 เป็นสารกัมมันตรังสีที่ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือเครื่องเร่งอนุภาค แต่หากเข้าไปอยู่ร่างกายจะเป็นอันตรายมากกว่าไซยาไนด์หลายเท่าตัว

.

ผู้ที่ค้นพบโพโลเนียมคือ มาดามมารี กูรี (Marie Curie) นักเคมีชาวโปแลนด์ ซึ่งต่อมาก็เสียชีวิตจากสารกัมมันตรังสี

.

“โพโลเนียมเพียง 1 ไมโครกรัม หรือแค่ฝุ่นผง ก็เพียงพอทำให้เกิดกัมมันตภาพรังสีที่ถึงตาย หากกลืนเข้าไปในร่างกาย” เบอร์เจส พิธีกรคอลัมน์ บริตแลบ (BritLab) ของบีบีซี ฟิวเจอร์ส อธิบาย

.

เมื่อปี 2016 โพโลเนียม-210 (Polonium-210) ซึ่งพบบริเวณโต๊ะที่ผู้ตายนั่งดื่มน้ำชาในร้านอาหารญี่ปุ่นอิตซู ซูชิ สันนิษฐานว่า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของ อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก (Alexander Litvinenko) อดีตสายลับรัสเซีย ที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร วิธีการคาดว่า ลอบหยอดโพโลเนียม-210 ลงในแก้วน้ำชา

.

“ไร้สี ไร้กลิ่น หลายคนเรียกมันว่า ยาพิษสมบูรณ์แบบ” โดยเมื่อรับโพโลเนียมเข้าร่างกาย มันจะกระจายไปทั่วร่าง ทั้งไตและไขกระดูก ทำให้ผมร่วง อาเจียน ท้องเสีย ก่อนจะเสียชีวิต และไม่มียารักษาโพโลเนียมในปัจจุบัน

.

เทโทรโดท็อกซิน พิษร้ายจากปลาปักเป้า

ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุเนื่องมาจากการรับประทานปลาที่มีสารพิษ

เทโทรโดท็อกซิน หรือ TTX จัดเป็นสารพิษจากสัตว์ทะเลที่สำคัญ 1 ใน 3 ชนิด ที่จัดว่าเป็นอันตรายมากต่อสุขภาพ โดยส่วนใหญ่จะพบได้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งก็จะรวมประเทศไทย

.

ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุเนื่องมาจากการรับประทานปลาที่มีสารพิษดังกล่าวอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาปักเป้า หมึกสายวงน้ำเงิน ปลาดาว และปลาอีกหลายชนิด

.

อาการเริ่มแรก เป็นน้อย คือ ริมฝีปากและลิ้นจะเริ่มรู้สึกเหมือนมีเข็มแทงเบา ๆ ยิบ ๆ ถี่ ๆ มีอาการชา ตามมาด้วยอาการชาแบบเดียวกันที่หน้า และมือ เหงื่อออกอย่างรุนแรง จากนั้น “คุณจะทานอะไรไม่ได้ ร่างกายเริ่มชักกระตุก ร่างกายเริ่มไม่ทำงานอย่างช้า ๆ จนเหมือนเป็นอัมพาต และเสียชีวิตหลังเกิดอาการได้ราว 6 ชั่วโมง” เบอร์เจส ระบุ พร้อมเสริมว่า ไม่มียาแก้พิษเช่นกัน

.

โบทูลินัมท็อกซิน ความงามกับความตาย

ความงามในโบท็อก ที่อาจถึงตายได้

“สิ่งที่เหล่าคนดังฉีดเข้าไปบนใบหน้า เพื่อเสริมความงาม ที่เรียกว่า โบท็อก คือสารพิษที่ร้ายแรงที่สุดในโลก” พิธีกรบริตแลบ กล่าว และสารที่ใช้ในการโบท็อก คือ โบทูลินัมท็อกซิน เอ นั่นเอง

.

ฉีดสารนี้เข้าไปในร่างกายไม่ถึง 1 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยโบทูลินัมท็อกซินจะออกฤทธิ์โดยไปสกัดกั้นการส่งผ่านกระแสประสาทบริเวณกล้ามเนื้อด้วยการลดการหลั่งสารอะเซติลโคลีน (acetylcholine) ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ระงับความเจ็บปวด และลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ

.

งานวิจัยด้าน โบทูลินัมท็อกซิน ในฐานะอาวุธชีวภาพ ที่เผยแพร่โดยศูนย์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ ระบุว่า “ผลึกโบทูลินัมท็อกซินน้ำหนักเพียง 1 กรัม ก็สามารถฆ่าคนได้กว่า 1 ล้านคน” ดังนั้น มันจึงมีศักยภาพสูงที่จะถูกใช้เป็นอาวุธเคมีด้วย

.

ดังนั้น “สารพิษตัวนี้ปริมาณ 2 กิโลกรัม ก็เพียงพอจะทำให้ประชากรโลกเสียชีวิต” เบอร์เจส ระบุ

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c3gnpzggrd5o