กล้ามเนื้อหน้าท้องของคนเรา จัดเป็นหนึ่งในกล้ามเนื้อกลุ่มที่ทำงานหนักที่สุดของร่างกาย โดยมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบและท่วงท่า เพื่อช่วยให้เราสามารถทรงตัวโดยโครงสร้างร่างกายทั้งหมดมีความสมดุลพร้อม ทั้งยังเป็นกล้ามเนื้อที่ปกป้องกระดูกสันหลัง รวมทั้งช่วยพยุงอวัยวะภายในให้อยู่ตรงตำแหน่งที่เหมาะสมอย่างมั่นคงด้วย

.

แต่เมื่อไม่นานมานี้ บุคลากรทางการแพทย์เริ่มสังเกตพบความผิดปกติของกล้ามเนื้อหน้าท้องในคนไข้จำนวนไม่น้อย ซึ่งพวกเขาเรียกมันว่า “กลุ่มอาการนาฬิกาทราย” (hourglass syndrome) ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่าง ซึ่งทำให้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกแขม่วพุงวันละหลายครั้ง เพื่อให้มีทรวดทรงช่วงกลางลำตัวที่คอดกิ่วสวยงาม มีกล้ามเนื้อซิกซ์แพ็ก (six-pack) และมีส่วนเว้าส่วนโค้งเหมือนกับนาฬิกาทรายนั่นเอง

.

ศ.นพ.อดัม เทย์เลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้กายวิภาคศาสตร์ระดับคลินิก ประจำมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ของสหราชอาณาจักร ออกมาเตือนถึงอันตรายของกลุ่มอาการนาฬิกาทราย ในบทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์วิชาการ The Conversation ดังนี้

.

การเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นเวลานานติดต่อกันมากเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้อชุดดังกล่าวเสียสมดุลและสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างผนังหน้าท้องโดยรวมได้ ซึ่งในกรณีของกลุ่มอาการนาฬิกาทราย จะเกิดรอยพับที่มองเห็นได้ชัดเจนตรงบริเวณกลางท้อง และจะเกิดผลเสียต่ออวัยวะภายในหลายส่วนหากไม่รีบทำการรักษา

.

ศ.เทย์เลอร์บอกว่า สาเหตุหลักของกลุ่มอาการนาฬิกาทรายมีอยู่ 4 ประการด้วยกัน โดยสาเหตุแรกเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก ซึ่งบางรายอาจมีช่องโหว่ในผนังหน้าท้องที่ปิดตัวไม่สนิท ทำให้อวัยวะภายในออกมานอกช่องท้องได้ ส่วนสาเหตุอย่างที่สองได้แก่การเกร็งหน้าท้องเนื่องจากมีอาการปวดรุนแรง ซึ่งพบได้ในคนไข้โรคลำไส้ โรคตับ หรือโรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ

.

นอกจากนี้ กลุ่มอาการนาฬิกาทรายยังเกิดขึ้นได้ จากการมีอิริยาบถหรือการวางท่วงท่า ยืน เดิน นั่ง นอน ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนจนผิดไปจากรูปทรงคล้ายตัวเอส (S) ตามปกติ ทำให้เกิดแรงกดและแรงตึงเครียดที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหน้าท้องจนเสียสมดุลได้

.

แต่สาเหตุของกลุ่มอาการนาฬิกาทรายที่แพทย์พบได้บ่อยได้ระยะหลัง มาจากการที่ผู้คนให้ความสนใจกับเรื่องรูปลักษณ์ (body image) หรือภาพลักษณ์ทางร่างกายกันมากขึ้น ทำให้ผู้ที่ขาดความมั่นใจในรูปร่างของตนเอง พยายามฝึกแขม่วพุงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มีเอวคอดเล็กและหน้าท้องแบนราบ ซึ่งไม่ต่างจากการใช้งานกล้ามเนื้อหน้าท้องหนักเกินไป

.

การแขม่วพุงก็คือการหดเกร็งกล้ามเนื้อ rectus abdominis หรือที่เรียกกันว่าซิกซ์แพ็กนั่นเอง แต่เนื่องจากร่างกายมีแนวโน้มจะเก็บสะสมไขมันไว้ตรงหน้าท้องส่วนล่างมากกว่า กล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนบนจึงต้องออกแรงทำงานมากขึ้นเมื่อมีการแขม่วพุง จนทำให้หน้าท้องเกิดเป็นรอยพับและตำแหน่งของสะดือเลื่อนขึ้นไปด้านบนได้ หากมีการแขม่วพุงอย่างแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน

.

ยิ่งไปกว่านั้น การฝึกแขม่วพุงมากเกินพอดียังทำให้ปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างและต้นคอได้ เพราะการเกร็งหน้าท้องทำให้กล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยให้เกิดภาวะสมดุลของส่วนแกนกลางร่างกาย ที่ต้องสูญเสียไปจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้อง

.

ศ.เทย์เลอร์บอกว่า การแขม่วพุงยังส่งผลกระทบต่อการหายใจและการทำงานของอวัยวะภายในอื่น ๆ เนื่องจากพื้นที่ส่วนลำตัวหดแคบลง เหมือนกับหลอดยาสีฟันที่ถูกบีบตรงกลาง ซึ่งจะทำให้แรงดันในช่องอกส่วนบนและท้องน้อยส่วนล่างเพิ่มขึ้น โดยแรงดันนี้จะทำให้กะบังลมหย่อนตัวลงมาได้ไม่สุดจนหายใจเข้าลำบาก และในขณะเดียวกันก็ทำให้มีแรงกดไปกระทำต่ออุ้งเชิงกรานและข้อกระดูกสันหลังมากขึ้น

.

แม้ปัจจุบันจะมีงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาการนาฬิกาทรายกับการหายใจอยู่น้อย แต่ผลการศึกษาสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน เช่นการรัดหน้าท้องหลังผ่าตัดหรือเมื่อกล้ามเนื้อส่วนลำตัวบาดเจ็บ พบว่าผู้ป่วยสามารถสูดหายใจเอาอากาศเข้าไปได้ลดลงถึง 34% ทั้งความจุของปอดก็ลดลง 27% - 40% ด้วย ซึ่งทำให้น่าเป็นห่วงว่า คนที่แขม่วพุงอยู่เสมอแม้แต่ในเวลาออกกำลังกาย จะทำให้เหนื่อยล้าได้ง่ายเพราะปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ

.

การแขม่วพุงยังทำให้เกิดแรงเครียดในอุ้งเชิงกราน กระเพาะปัสสาวะ มดลูก และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้ไม่สามารถกลั้นการขับถ่าย ปัสสาวะเล็ด และมดลูกหย่อนได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้อยู่แล้ว การแขม่วพุงจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการนาฬิกาทรายนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยต้องมีการทำกายภาพบำบัด และออกกำลังกายในท่าที่เพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อทุกส่วนบริเวณแกนกลางลำตัว เช่นการทำท่าแพลงก์ (plank) และท่าสะพาน (bridge) นอกจากนี้ การทำโยคะและพิลาทีส (pilates) ก็มีประโยชน์ในเรื่องช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วย

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c51xzpw3v87o