ผิวหนังของคนเราเป็นที่อาศัยของเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสจำนวนมหาศาล

เชื่อหรือไม่ว่าเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อรา, และเชื้อไวรัสหลายพันล้านชีวิต อาศัยอยู่บนผิวหนังที่ปกคลุมห่อหุ้มร่างกายของคนเราแทบจะทุกตารางเซนติเมตร แต่มนุษย์เพิ่งจะเริ่มมีความรู้ความเข้าใจถึงบทบาทสำคัญของพวกมันต่อสุขภาพ เมื่อไม่นานมานี้เอง

.

หลายคนคงไม่อยากจะนึกภาพว่า มีบางสิ่งที่น่าขยะแขยงไต่กันยั้วเยี้ยเต็มไปหมดบนผิวกายของตน แต่ถ้าเราสุ่มเลือกพื้นที่บนผิวหนังจุดใดจุดหนึ่งมาสัก 1 ตารางเซนติเมตร แล้วใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงส่องดู จะพบว่าในนั้นมีแบคทีเรียอยู่ระหว่าง 10,000 – 1,000,000 ตัวเลยทีเดียว ช่างเป็นระบบนิเวศขนาดจิ๋วใกล้ตัวที่น่าขนลุกขนพองเสียนี่กระไร

.

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่บ่งชี้ว่าบรรดาจุลินทรีย์หลากหลายสายพันธุ์ที่อยู่บนผิวหนังของคนเรานั้น มีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาสุขภาพและมีคุณประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบคว้าสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อมาชำระล้างร่างกาย แต่ควรตั้งใจอ่านบทความนี้ให้จบเสียก่อน

.

หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “ชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้” (gut microbiome) กันมาบ้าง สิ่งนี้หมายถึงระบบนิเวศของเหล่าจุลินทรีย์ซึ่งยึดเอาลำไส้ของเราเป็นบ้านที่อยู่อาศัย ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบและพิสูจน์ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มของแบคทีเรีย, เชื้อรา, เชื้อไวรัส, และสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอื่น ๆ ที่มาอยู่ร่วมกันในลำไส้หลากหลายชนิดพันธุ์ มีบทบาทสำคัญในการป้องกันหรือทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ทั้งเบาหวาน, หอบหืด, ไปจนถึงโรคซึมเศร้าได้

.

แต่ปรากฏว่าจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของมนุษย์นั้น ก็มีคุณประโยชน์ไม่แพ้เพื่อน ๆ ของมันที่อยู่ในลำไส้เช่นกัน โดยช่วยทำตัวเป็นปราการด่านแรกในการป้องกันเชื้อโรคร้าย ซึ่งอาจบังเอิญพลัดหลงมาอยู่บนผิวหนังของเราได้ นอกจากนี้ยังช่วยย่อยสลายสารเคมีปนเปื้อนที่เราได้รับมาในชีวิตประจำวัน และมีบทบาทเด่นอย่างยิ่งในการสร้างและพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

.

ชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนัง (skin microbiome) มีปริมาณและความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์เป็นรองก็แต่เพียงชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้เท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมที่ทั้งอบอุ่น ปลอดภัย และชุ่มชื้น ในปากและทางเดินอาหารของคนเราแล้ว ผิวหนังจัดเป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะกับการดำรงชีพของจุลินทรีย์เลย

.

“ผิวหนังถือเป็นสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายมาก ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของจุลินทรีย์เอาเสียเลย เมื่อเทียบกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย” ฮอลลี วิลคินสัน อาจารย์ผู้สอนและผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาบาดแผล จากมหาวิทยาลัยฮัลล์ของสหราชอาณาจักรกล่าว “มันทั้งแห้งแล้ง ขาดความอุดมสมบูรณ์ และเปิดโล่งต่อสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติให้เข้ามาปะทะได้ง่าย แต่แบคทีเรียที่อยู่ตรงนั้นได้วิวัฒนาการมายาวนานหลายล้านปี เพื่อรับมือกับแรงกดดันเหล่านี้”

.

วิวัฒนาการที่มีร่วมกันมาระหว่างมนุษย์และจุลินทรีย์บนผิวหนัง ได้มอบคุณประโยชน์มากมายมหาศาลให้กับเราในทุกวันนี้ แต่ไม่ใช่ว่าผิวหนังทุกส่วนจะมีประชากรจุลินทรีย์ทุกชนิดอาศัยอยู่เท่า ๆ กัน และน่าประหลาดใจว่าพวกมันช่างจู้จี้จุกจิกในการเลือกบ้านของตนเองเสียจริง

.

แบคทีเรียบางชนิดกระตุ้นผิวหนังให้ผลิต “ซีบัม” หรือไขมันเคลือบผิวเพื่อรักษาความชุ่มชื้น ซึ่งเครื่องสำอางหลายยี่ห้อพยายามเลียนแบบกลไกนี้

หากลองใช้สำลีเช็ดไปตามหน้าผาก จมูก และแผ่นหลัง คุณจะพบว่าพื้นที่เหล่านี้เต็มไปด้วยแบคทีเรีย “คิวติแบคทีเรียม” (Cutibacterium) จุลชีพที่วิวัฒนาการมาให้สามารถกินไขมันซีบัมบนผิวหนังเป็นอาหารได้ โดยเซลล์ผิวหนังจะผลิตไขมันนี้ออกมาอยู่เสมอ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและปกป้องผิวหนังชั้นบนสุด

.

ทว่าเมื่อลองเก็บตัวอย่างจุลินทรีย์จากซอกรักแร้ที่ทั้งอุ่นและชื้นแฉะ จะพบว่ามีเชื้อแบคทีเรีย “สแตฟีโลค็อกคัส” (Staphylococcus) และ “โครีนแบคทีเรียม” (Corynebacterium) อยู่มากกว่าสายพันธุ์อื่น แต่เมื่อย้ายจุดสำรวจไปที่ระหว่างง่ามนิ้วเท้า เราจะพบเชื้อราหลายชนิดและ “โพรพิโอนิแบคเทรียม” (Propionibactrium) ซึ่งคนนำสายพันธุ์ย่อยบางชนิดของมันไปใช้ในการผลิตชีสด้วย

.

สำหรับผิวหนังส่วนที่แห้งผากอย่างแขนขา ไม่สู้จะเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของแบคทีเรียนัก แต่ก็มีแบคทีเรียบางสายพันธุ์ที่สามารถอาศัยอยู่ตามแขนขาของคนเราได้ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม พบเชื้อไวรัสอาศัยอยู่ตรงบริเวณนี้ในสัดส่วนที่สูงกว่าพื้นที่ด้านนอกจุดอื่นๆ ของร่างกาย

.

เป็นเวลานานหลายพันปีมาแล้ว ที่จุลินทรีย์กับมนุษย์ได้สร้างความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน แบคทีเรีย, เชื้อรา, หรือแม้แต่ไรขนตัวจิ๋ว ต่างได้รับประโยชน์จากสารอาหารที่เซลล์ผิวหนังของคนเราผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนมนุษย์นั้นอาศัยจุลินทรีย์ที่ดีช่วยขับไล่และกำจัดเชื้อก่อโรคด้วยเช่นกัน โดยพวกมันจะแข่งขันกับเชื้อโรคร้ายในการแย่งพื้นที่อยู่อาศัยบนตัวเรานั่นเอง

.

“เพียงแค่มีแบคทีเรียชนิดดีอาศัยอยู่บนผิวหนัง คุณความดีของพวกมันเพียงเท่านี้ ก็เพียงพอจะทำให้เชื้อร้ายเข้ามาลงหลักปักฐานได้ยากแล้ว” วิลคินสันกล่าว “แบคทีเรียแปลกหน้าผู้มาใหม่ จำเป็นจะต้องเข้าครอบงำระบบนิเวศที่มีอยู่เดิมให้ได้ แต่นั่นหมายความว่า พวกมันจะต้องแข่งขันกับแบคทีเรียที่มีวิวัฒนาการขั้นสูงมายาวนาน เพื่อให้สามารถอยู่อาศัยบนผิวหนังคนได้โดยเฉพาะ”

.

แบคทีเรียชนิดดีบนผิวหนังมนุษย์ยังสามารถทำสงครามต่อต้านผู้รุกรานได้ ด้วยการผลิตสารเคมีที่ยับยั้งการเติบโตหรือฆ่าเชื้อร้ายได้โดยตรงออกมา ตัวอย่างเช่น “สแตฟีโลค็อกคัส เอพิเดอร์มิดิส” (Staphylococcus epidermidis) และ “สแตฟีโลค็อกคัส โฮมินิส” (Staphylococcus hominis) แบคทีเรียสองชนิดที่ดำรงชีวิตแบบอิงอาศัยอยู่กับมนุษย์และสัตว์อื่น สามารถจะผลิตโมเลกุลที่คล้ายยาปฏิชีวนะ เพื่อยับยั้งการเติบโตของ “สแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส” (Staphylococcus aureus) เชื้อก่อโรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อดื้อยาเมทิซิลลิน (MRSA) และสาเหตุของโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยหลายชนิด

.

นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มยังเชื่อว่า ชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนังของคนเรา มีบทบาทสำคัญในการช่วยฝึกฝนสร้างความแข็งแกร่งแก่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ไม่ต่างจากชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้ โดยในช่วงวัยเด็กของเรานั้น จุลินทรีย์ชนิดดีบนผิวหนังจะช่วยสอนให้ร่างกายรู้จักว่า สิ่งแปลกปลอมใดคือเป้าหมายที่ควรโจมตี และสิ่งใดที่ควรจะเมินเฉยเสีย นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพของแบคทีเรียชนิดพันธุ์หนึ่ง กับความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ที่ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย

.

ชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนังยังมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เช่นแบคทีเรียบางชนิดอาจรักษาผิวให้ดูอ่อนเยาว์ไม่แก่ก่อนวัยได้ ด้วยวิธีช่วยเก็บกักความชุ่มชื้น ซึ่งจะทำให้ผิวดูอ่อนนุ่ม เรียบเนียน และอวบอิ่มอยู่เสมอ

.

ตามปกติแล้วโครงสร้างผิวหนังของคนเรามีหลายชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคและสารพิษเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งกักเก็บน้ำและความชื้นไว้ภายในไม่ให้รั่วไหลออกไป ผิวหนังชั้นบนหรือชั้นขี้ไคล (stratum corneum) ถือว่าแข็งแกร่งที่สุด และเป็นชั้นที่สิ่งแปลกปลอมยากจะทะลุทะลวงเข้ามาได้มากที่สุด เพราะประกอบไปด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว (corneocyte) มาก่อตัวเชื่อมติดกันด้วยโมเลกุลไขมัน (lipids)

.

“มันแข็งแกร่งทนทานและกันน้ำได้ ร่างกายของเราจึงไม่ละลายหายไปเมื่อออกไปตากฝน” ศาสตราจารย์แคเทอรีน โอนีล ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ปริวรรตทางตจวิทยา (translational dermatology) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ของสหราชอาณาจักรกล่าว

.

ลึกลงไปใต้ผิวหนังชั้นบนสุด เราจะพบเซลล์ผิวหนังที่ยังมีชีวิตอยู่ (keratinocyte) เรียงซ้อนกันหลายชั้น โดยมีช่องว่างเล็ก ๆ ที่น้ำสามารถรั่วซึมได้คั่นอยู่ระหว่างเซลล์เหล่านี้ ทำให้เซลล์ผิวหนังต้องสร้างโมเลกุลไขมันขึ้นมาเคลือบตัวเองไว้ “มันเหมือนกับการสร้างบ้านด้วยการก่ออิฐถือปูน” วิลคินสันกล่าว “เรามีทั้งเซลล์ผิวหนังและไขมันที่แทรกซึมอยู่ระหว่างเซลล์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของปราการผิว ทั้งยังช่วยเป็นกาวยึดทุกสิ่งทุกอย่างไว้ด้วยกัน”

.

สมดุลของแบคทีเรีย มีส่วนในการทำให้ผิวหนังคงความอ่อนเยาว์ หรือแก่ชราลงอย่างรวดเร็วได้

แบคทีเรียชนิดดีช่วยส่งเสริมกลไกสร้างความแข็งแรงของผิวที่ว่านี้ โดยนอกจากจะผลิตโมเลกุลไขมันออกมาเองแล้ว ยังส่งสัญญาณกระตุ้นเตือนเซลล์ผิวหนังให้ผลิตไขมันออกมามากขึ้นได้อีกด้วย เคยมีผลการวิจัยที่พบว่า คิวติแบคทีเรียมสามารถกระตุ้นผิวให้ผลิตซีบัมที่อุดมไปด้วยไขมันออกมาเพิ่มขึ้น เพื่อลดการสูญเสียน้ำและทำให้ผิวชุ่มชื้น ส่วนสแตฟีโลค็อกคัส เอพิเดอร์มิดิส สามารถเพิ่มการผลิตเซราไมด์ (ceramide) ไขมันอีกชนิดหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เสมือนกาวยึดเซลล์ผิวเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อรักษาปราการผิวให้แข็งแรงและมีสุขภาพดี

.

แต่หากสมดุลของชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนังถูกรบกวนให้เสียไป จนเกิดเป็นภาวะความไม่สมดุล (dysbiosis) นักวิทยาศาสตร์พบว่าภาวะดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับการเกิดโรคหลายชนิด ตั้งแต่โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังโรซาเซีย (rosacea) หรือที่บางคนเรียกว่าสิวหน้าแดง ไปจนถึงสิวชนิดอื่น ๆ และโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) แม้แต่รังแคบนหนังศีรษะก็ยังเกี่ยวข้องกับเชื้อราบางชนิด เช่น Malassezia furfur และ Malassezia globosa ซึ่งผลิตกรดโอเลอิกออกมาจนทำให้หนังศีรษะชั้นบนสุดระคายเคือง กลายเป็นการอักเสบและรู้สึกคันอย่างมากได้

.

อย่างไรก็ตาม การเกิดโรคผิวหนังที่กล่าวมานี้ยากที่จะแยกแยะได้ว่า การเสียสมดุลของชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนังเป็นสาเหตุก่อโรค หรือตัวโรคเองทำให้สมดุลของชีวนิเวศจุลชีพต้องเปลี่ยนแปลงและสูญเสียไปในภายหลังกันแน่

.

ปัญหาผิวหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าแบคทีเรียตัวร้ายมีส่วนทำให้เกิดขึ้น คือการที่ผิวสูญเสียความอ่อนเยาว์ไปเมื่อเราแก่ตัวลง ปัญหานี้นอกจากจะเป็นความเสื่อมถอยของเซลล์ร่างกายเราเองแล้ว ความชรายังทำให้มนุษย์มีจำนวนประชากรแบคทีเรียชนิดดีบนผิวหนังลดลง จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อและรักษาผิวให้ชุ่มชื้นเปล่งปลั่งเหมือนเดิมได้ ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังทำให้คนแก่มีแบคทีเรียก่อโรคเพิ่มขึ้นบนผิวหนัง ซึ่งส่งผลให้แผลหายช้าได้ด้วย

.

“คนแก่มักจะมีผิวแห้งกว่าคนในวัยอื่น ๆ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการมีแบคทีเรียดีที่ช่วยผลิตไขมันลดลง” วิลคินสันอธิบาย “ปัญหานี้นำไปสู่ความเสี่ยงที่ผิวหนังจะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น เพราะโครงสร้างผิวอ่อนแอไม่แน่นหนาเท่าเดิม คนที่ชรามากแล้วมักจะเกิดแผลขึ้นตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะผิวขาดความสมบูรณ์ไปแล้วนั่นเอง”

.

ยิ่งไปกว่านั้น แบคทีเรียตัวร้ายยังสามารถจะเข้าซ้ำเติม โดยทำให้บาดแผลหายช้ากว่าปกติอย่างมากได้ โดยงานวิจัยของศ.เอลิซาเบธ กริซ ผู้เชี่ยวชาญด้านตจวิทยาและจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ ค้นพบว่าหนูทดลองที่ผิวหนังขาดจุลินทรีย์ดีชนิดหนึ่งไป ต้องใช้เวลายาวนานกว่าเพื่อนในการเยียวยารักษาบาดแผลจนหาย

.

นอกจากนี้ งานวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮัลล์ ที่เพื่อนร่วมงานของวิลคินสันเป็นผู้จัดทำ ยังชี้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับแบคทีเรียบนผิวหนังของแต่ละคน สามารถนำไปใช้ทำนายได้ว่า เขาหรือเธอจะหายจากการเป็นแผลเรื้อรังหรือไม่ เพราะการมีบาดแผลที่รักษาไม่หายเสียทีเป็นเวลานานหลายเดือนนั้น จัดว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างยิ่ง ซึ่งอาการนี้พบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1 ใน 4 คน และพบได้ในคนชราอายุ 65 ปีขึ้นไป ราว 1 ใน 20 คน

.

“หวังว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะสามารถใช้เทคนิคการอ่านข้อมูลชีวนิเวศจุลชีพ มาช่วยวินิจฉัยโรคว่าผู้ป่วยคนไหนที่เสี่ยงจะเกิดแผลเรื้อรังได้มากที่สุด เพื่อที่แพทย์จะสามารถเข้าแทรกแซงและป้องกันล่วงหน้า ไม่ให้ผู้ป่วยไปถึงขั้นที่จะต้องถูกตัดขาหรือเกิดแผลเน่าเฟะจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง” วิลคินสันกล่าว

.

เชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส ในบางสายพันธุ์ ก็มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับอาการแผลหายช้า แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า มันเข้าไปยุ่งวุ่นวายกับกระบวนการเยียวยารักษาแผลของร่างกายได้อย่างไร เรื่องนี้วิลคินสันอธิบายเพิ่มเติมว่า “เชื้อโรคชนิดนี้ผลิตเอ็นไซม์บางอย่าง ซึ่งทำให้มันเข้าไปรุกรานและย่อยสลายเนื้อเยื่อที่อยู่รอบตัวได้ นอกจากนี้ยังสามารถรบกวนภูมิคุ้มกันร่างกายให้หันมาทำร้ายตัวเองด้วย”

.

“ปัจจัยหลักที่ทำให้แผลหายช้า เป็นเพราะร่างกายติดอยู่ในระยะอักเสบโดยไม่อาจจะหลุดพ้นออกมาได้ การที่ยังมีเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส อยู่บนผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบวนไปวนมาซ้ำหลายรอบอย่างไม่สิ้นสุด”

.

เครื่องสำอางที่เราใช้และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ส่งผลเปลี่ยนแปลงชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนังของเราได้

อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาที่พบว่า เชื้อจุลินทรีย์บางชนิดสามารถช่วยรักษาบาดแผลให้หายเร็วขึ้น ส่วนชีวนิเวศจุลชีพที่อยู่ในภาวะสมดุล ก็ช่วยป้องกันผิวหนังจากอันตรายของรังสีอัลตราไวโอเล็ตได้ โดยจะสนับสนุนให้เซลล์ผิวหนังดำเนินการซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายจากการแผดเผาของรังสียูวี รวมทั้งปล่อยให้เซลล์ทำลายตนเองไป หากไม่อาจซ่อมแซมสารพันธุกรรมได้ ซึ่งนี่เป็นกลไกป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนังตามธรรมชาติ

.

ในงานวิจัยล่าสุดที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ของศ. โอนีล พบว่าหากเราทำให้ชีวนิเวศจุลชีพเสียสมดุล เซลล์ผิวหนังที่ดีเอ็นเอเสียหายไปแล้วจะไม่ทำลายตนเอง และจะยังคงแบ่งตัวต่อไปจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายในที่สุด

.

ผลการศึกษาในหนูทดลองยังพบว่า ชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนังที่อยู่ในภาวะสมดุล ช่วยปรับปฏิกิริยาตอบสนองที่ภูมิคุ้มกันร่างกายมีต่อรังสียูวี ให้มีความพร้อมต่อสู้กับภาวะติดเชื้อที่จะเกิดตามมาได้ดียิ่งขึ้น เพราะรังสีอันตรายในแสงแดดนั้นสามารถกดการทำงานของภูมิคุ้มกันคนเราและทำลายเซลล์ผิวหนังไปพร้อมกัน ทำให้เชื้อโรคร้ายบุกเข้ามาได้ง่าย แต่จุลินทรีย์ชนิดดีจะช่วยชักนำให้เกิดการอักเสบขึ้นเมื่อผิวสัมผัสรังสียูวี ซึ่งเท่ากับเป็นการเตรียมพร้อมให้ภูมิคุ้มกันสู้กับเชื้อโรคได้ดีที่สุดนั่นเอง

.

ผลวิจัยล่าสุดยังพบว่า ชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนังสามารถจะมีอิทธิพลต่อการทำงานของชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้ได้ ซึ่งในบางกรณีพบว่า อาการบาดเจ็บที่ผิวหนังทำให้สมดุลของชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้เปลี่ยนแปลงไป จนคนผู้นั้นมีความเสี่ยงต่อโรคลำไส้อักเสบชนิดต่างๆ สูงขึ้น ก่อนหน้านี้ยังมีการค้นพบว่า เชื้อรา Malassezia restricta ที่ปกติอยู่บนผิวหนังมนุษย์ มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคโครห์น และทำให้โรคลำไส้ใหญ่อักเสบรุนแรงขึ้นได้ด้วย

.

เบิร์นฮาร์ด แพตโซลด์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท S-biomedic ซึ่งมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษาสิวด้วยการฟื้นฟูสมดุลชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนัง บอกว่า “ทุกคนรู้ดีว่าลำไส้และผิวหนังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หากกินอาหารไม่ดีผิวของคุณก็จะไม่ดีไปด้วย แต่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่า หากจุลินทรีย์ชนิดดีบนผิวหนังมีอันเป็นไปคุณก็จะท้องเสียได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้เองเราเพิ่งจะเข้าใจว่า ทั้งสองระบบสื่อสารกันแบบสองทางโดยพูดคุยโต้ตอบกันไปมา”

.

งานวิจัยชิ้นหนึ่งถึงกับค้นพบว่า ชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนังสามารถจะมีอิทธิพลต่อสมองได้ โดยการทดลองตรวจวัดความเคลื่อนไหวของสมอง ขณะที่อาสาสมัครจำนวนหนึ่งทำแบบทดสอบการคิดวิเคราะห์ไปด้วย พบว่าหากขจัดจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งบนหน้าผากออกไป ผู้เข้าร่วมการทดลองจะมีสมาธิจดจ่อสูงขึ้น

.

ผลการศึกษาที่น่าทึ่งเหล่านี้ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และนักวิจัยจำนวนไม่น้อย เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางรักษาโรคผิวหนังและโรคอื่น ๆ โดยใช้การปรับสมดุลชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนัง ซึ่งอาจไม่ต้องไปไกลถึงขั้นปลูกถ่ายจุลินทรีย์ที่ยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยาสูง แต่เริ่มมีการพูดถึงวิธีปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ให้ส่งเสริมต่อการเติบโตที่สมดุลของชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนัง เช่นการใช้เครื่องสำอางบำรุงผิวที่คิดค้นสูตรมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ บางบริษัทเริ่มใช้ “พรีไบโอติกส์” และ “โพรไบโอติกส์” เข้ามาปรับสมดุลผิว บ้างก็ใช้โปรตีนหรือไขมันจากแบคทีเรียทาผิว เพื่อป้อนอาหารให้กับจุลินทรีย์ชนิดดีโดยตรง

.

ในส่วนของวิลคินสันนั้น เขากำลังมุ่งวิจัยการใช้ไวรัสที่ทำให้แบคทีเรียติดเชื้อได้ หรือ bacteriophage เพื่อต่อสู้กับเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส ที่ทำให้แผลหายช้า โดยกำลังปรับใช้โมเลกุลที่ไวรัสนี้ผลิตขึ้น เพื่อให้เกิดการรักษาแบบมุ่งเป้าเฉพาะเจาะจง ที่จะไม่กระทบต่อจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกัน และสมดุลของชีวนิเวศจุลชีพบนผิวหนังโดยรวม

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cx29er3de71o