ชื่อเรื่อง : การเฝ้าระวังระดับความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ชื่อผู้แต่ง : ธิตินาถ สงวนเรือง
แหล่งที่มา : วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2561
บทคัดย่อ :
การศึกษาข้อมูลทุติยภูมิครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ระดับความเข้นข้นของฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ในบรรยากาศ และความสัมพันธ์กับสถิติของกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจและโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดของประชาชนในพื้นที่ที่มีสถานีตรวจวัดติดตั้งอยู่จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง สระบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร และสงขลา รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิเพื่อศึกษาปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ในบรรยากาศ จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบถาวรอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษ และอัตราป่วยของผู้ป่วยนอกโรคระบบทางเดินหายใจ (รหัส J) จำนวน 20 โรค และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (รหัส I) จำนวน 11 โรค จากฐานข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพในรูปแบบ 43 แฟ้มมาตรฐาน กระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างปี พ.ศ. 2555-2559 วิเคราะห์ข้อมูลรายจังหวัดโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้ Pearson’s Product moment correlation coefficient พบว่าจำนวนวันที่ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน (PM10) ในเวลา 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐานมากที่สุด ที่จังหวัดสระบุรี รองลงมาได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง สมุทรสาคร ขอนแก่น ราชบุรี สงขลา และชลบุรี จำนวนร้อยละ 29.54 5.26 5.05 4.64 3.85 0.86 0.43 และ 0.07 ตามลำดับ พบว่าวันที่ค่าตรวจวัดเกินมาตรฐานค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเวลา 24 ชั่วโมง มากที่สุดที่จังหวัดสระบุรี รองลงมาได้แก่ ลำปาง สมุทรสาคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ราชบุรี ระยอง ชลบุรี และสงขลา จำนวนร้อยละ 25.81 21.13 18.86 16.67 11.77 11.06 6.28 2.11 และ 0.61 ตามลำดับ โดยทุกจังหวัดพบว่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน และ 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศ มีค่าสูงขึ้นระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนพบว่าจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น ระยอง ชลบุรี สระบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร และสงขลามีอัตราป่วยของผู้ป่วยนอกสูงสุดสามอันดันดับแรก คือ โรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ (ปฐมภูมิ) รหัส I10 รองลงมาคือ โรคคอหอยส่วนจมูกอักเสบเฉียบพลัน (ไข้หวัด) รหัส J00 และ โรคคอหอยอักเสบเฉียบพลัน รหัส J02 ตามลำดับพบว่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 กับอัตราป่วยของผู้ป่วยนอกมีความสัมพันธ์กันเชิงบวกในระดับสูง (r = 0.61 – 0.80) กับโรคปอดบวมไม่ระบุเชื้อต้นเหตุ รหัส J18 ในจังหวัดลำปาง พบว่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM10 กับอัตราป่วยของผู้ป่วยนอกมีความสัมพันธ์กันเชิงบวกในระดับปานกลาง (r = 0.51 – 0.60) กับโรคหลอดลมอักเสบ ไม่ระบุว่าเฉียบพลันหรือเรื้อรัง รหัส J40 ในจังหวัดลำปาง แต่พบว่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 กับอัตราป่วยของผู้ป่วยนอกมีความสัมพันธ์กันเชิงบวกในระดับต่ำ (r = 0.26 – 0.50) กับโรคหลอดลมอักเสบ ไม่ระบุว่าเฉียบพลันหรือเรื้อรัง รหัส J40 ในจังหวัดลำปาง ระยอง ราชบุรี และสมุทรสาคร พบว่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาด PM2.5 กับอัตราป่วยของผู้ป่วยนอกมีความสัมพันธ์กันเชิงบวกในระดับต่ำ (r = 0.26 – 0.51) กับหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน รหัส J20 ในจังหวัดลำปาง สระบุรี ชลบุรี และระยอง ข้อมูลที่ได้สามารถใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการจัดการงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรการในการควบคุมป้องกัน และติดตามเฝ้าระวังปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 และ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงเตรียมการรองรับปัญหาในกรณีฉุกเฉินต่อไป
#PM2.5 #PM10 #ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน #คุณภาพอากาศ