ปัจจุบันจะพบเห็นฉลากอาหารระบุว่า “ไม่มีกลูเตน” หรือ “Gluten Free” คงมีคำถามมากมายว่า กลูเตน คืออะไร ทำไมต้องไม่มีกลูเตน แล้วใครต้องระมัดระวังในการเลือกซื้ออาหารที่ไม่มีกลูเตน การแสดงฉลากอาหารเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของผู้ผลิตที่มีต่อผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อและบริโภคอาหารได้อย่างปลอดภัยและตรงตามความต้องการ นอกจากนี้ ยังมีการกำกับดูแลจากภาครัฐเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 384) พ.ศ. 2560 เรื่อง การแสดงฉลากอาหารไม่มีกลูเตน (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 97 ง ลงวันที่ 4 เมษายน 2560 หน้า 29) เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภค (ที่แพ้กลูเตน) ในการเลือกซื้ออาหารได้อย่างปลอดภัย เป็นไปตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับนานาประเทศที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงฉลากอาหารไม่มีกลูเตน
ในประกาศฉบับนี้ได้ให้คำนิยาม “กลูเตน (gluten)” หมายความถึง โปรตีนที่มีในเมล็ดธัญพืชบางชนิดที่ผู้บริโภคบางกลุ่มแพ้ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต หรือสายพันธุ์ลูกผสมของธัญพืชดังกล่าว ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่ละลายในน้ำ และไม่ละลายในน้ำเกลือความเข้มข้น 0.5 โมลาร์ (Molar, M) ในการแสดงฉลากว่า อาหารไม่มีกลูเตน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
(1) อาหารต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(ก) เมล็ดธัญพืชที่ไม่มีกลูเตนโดยธรรมชาติ หรือรากหรือลำต้นใต้ดินของพืชหัวซึ่งไม่มีกลูเตนโดยธรรมชาติ
(ข) แป้งที่ได้จาก (ก)
(ค) ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของ (ก) หรือ (ข)
(ง) ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดธัญพืชที่มีกลูเตนตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปที่ได้จากข้าวสาลีสายพันธุ์ Triticum species เช่น ข้าวสาลีดูรัม สเปลท์ และ คามุท เป็นต้น ข้าวไรย์ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต หรือสายพันธุ์ลูกผสมของธัญพืชดังกล่าว ซึ่งผ่านกระบวนการกำจัดกลูเตนและปริมาณกลูเตนทั้งหมดในผลิตภัณฑ์สุดท้าย ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
(2) ต้องใช้ข้อความว่า “ไม่มีกลูเตน” หรือ “gluten free” เท่านั้น และกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารตาม (ง) ต้องแสดงข้อความ “ผ่านกระบวนการกำจัดกลูเตน” หรือ “being specially processed to remove gluten” กำกับไว้ด้วย แล้วแต่กรณีตามลำดับ