หลุมโคโรนาบนดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ดูคล้ายกับรอยยิ้มของปิศาจในภาพยนตร์ “โกสต์บัสเตอร์”
ดาวเทียมสังเกตการณ์พลวัตของดวงอาทิตย์ (Solar Dynamics Observatory – SDO) ซึ่งควบคุมโดยองค์การนาซาของสหรัฐฯ สามารถบันทึกภาพผิวด้านนอกของดวงอาทิตย์ที่ดูแปลกประหลาด คล้ายรอยยิ้มของปิศาจผู้น่ารักในภาพยนตร์ดังเรื่องบริษัทกำจัดผีหรือ “โกสต์บัสเตอร์” (Ghostbusters) เอาไว้ได้
.
บัญชีทวิตเตอร์ขององค์การนาซาเผยภาพดังกล่าว โดยระบุว่ารอยดำมืดขนาดใหญ่บนดวงอาทิตย์ซึ่งคล้ายกับตาและปากของตัวการ์ตูนนี้ ดูไปแล้วเหมือนกับใบหน้าของ “สเตย์-พัฟต์ มาร์ชเมลโลว์แมน” (Stay-puft marshmallow man) ปิศาจจอมป่วนรูปร่างกลมและพองฟูตลอดเวลาเหมือนขนมมาร์ชเมลโลว์ จากภาพยนตร์เรื่องโกสต์บัสเตอร์นั่นเอง
.
นักดาราศาสตร์ขององค์การนาซาอธิบายว่า รอยดำมืดดังกล่าวคือหลุมโคโรนา (Coronal hole) ซึ่งเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นชั่วคราวในบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ หลังลมสุริยะที่ทรงพลังรุนแรงพัดออกสู่ห้วงอวกาศ
.
“สเตย์-พัฟต์ มาร์ชเมลโลว์แมน” ปิศาจจอมป่วนในภาพยนตร์เรื่องโกสต์บัสเตอร์
ความปั่นป่วนของพลังงานบนดวงอาทิตย์ ทำให้สนามแม่เหล็กประจำดาวฤกษ์ของเราบางส่วนขยายยื่นออกไปในห้วงอวกาศ จนเกิดการปะทุพลังงานในรูปของลมหรือพายุสุริยะออกมา ทำให้บรรยากาศชั้นโคโรนาในบริเวณที่เกิดการปะทุของอนุภาคพลังงานสูงดูเหมือนเป็นรูโหว่
.
แต่อันที่จริงแล้ว หลุมโคโรนาดำมืดนั้นคือพื้นที่ซึ่งเย็นตัวลงและมีพลาสมาร้อนอยู่เพียงเบาบาง หลังการปะทุพลังงานอย่างฉับพลันได้ผ่านพ้นไปแล้ว
.
นอกจากนี้ การที่เรามีแนวโน้มจะมองเห็นสิ่งไร้ชีวิตเช่นดิน หิน และวัตถุต่าง ๆ คล้ายกับใบหน้าคนหรือภูตผีปีศาจ ยังเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Pareidolia ซึ่งเป็นพฤติกรรมการรับรู้และเชื่อมโยงของสมองที่ทำให้คนเราสามารถตรวจจับและมองเห็นใบหน้ามนุษย์อยู่เสมอ เพื่อประโยชน์ต่อวิวัฒนาการทางสังคม
.
ก่อนหน้านี้องค์การนาซาและองค์การอวกาศยุโรป (ESO) ได้เผยภาพดาราศาสตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจออกมาในช่วงเทศกาลฮาโลวีนเป็นประจำทุกปี ตัวอย่างเช่นภาพกาแล็กซีหรือเนบิวลาที่ดูคล้ายหัวกะโหลก ใบหน้าภูตผี รวมทั้งภาพดวงอาทิตย์ที่ดูคล้ายตะเกียงฟักทอง Jack-o’-lantern ด้วย
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cv27ngq4w79o