ผู้ที่พยายามควบคุมอาหารเพื่อลดอ้วนหลายคนคงทราบดีว่า อุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งของการลดน้ำหนักให้ได้สัดส่วนตามเป้าหมาย ได้แก่การที่น้ำหนักตัวหยุดนิ่งและคงค้างอยู่ในระดับเดิม โดยไม่อาจจะลดลงได้อีกหลังประสบความสำเร็จในการลดอ้วนไปได้ระยะหนึ่ง
.
สาเหตุของปัญหาดังกล่าวนั้น มาจากการที่ร่างกายตื่นตระหนกกับ “ภาวะอดอยาก” เมื่อได้รับพลังงานและสารอาหารลดลง ทำให้เริ่มหวงแหนไขมันที่สะสมไว้ โดยร่างกายจะปรับตัวให้มีอัตราการเผาผลาญใช้พลังงานในเซลล์ต่ำลง (adaptive thermogenesis) เพื่อชดเชยกับการที่ได้รับพลังงานในแต่ละวันน้อยลงนั่นเอง
.
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ นำโดยศูนย์วิจัยระบบเผาผลาญ ความอ้วน และโรคเบาหวาน แห่งมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ของแคนาดา ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาข้างต้นลงในวารสาร Nature ฉบับล่าสุด โดยระบุว่าพวกเขาค้นพบเส้นทางส่งสัญญาณชีวเคมีในร่างกาย (signaling pathway) ที่สามารถกระตุ้นฮอร์โมนบางอย่างให้เร่งอัตราการเผาผลาญขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยลดอ้วนทั้งในผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นควบคุมอาหาร และในกลุ่มผู้ที่เจอทางตันหลังลดน้ำหนักไปได้ระยะหนึ่งแล้ว
.
ผลการทดลองกับหนูในห้องปฏิบัติการพบว่า ฮอร์โมนสร้างความเปลี่ยนแปลงในการเจริญเติบโตของเซลล์ชื่อ GDF15 สามารถหยุดยั้งกระบวนการที่เซลล์ลดระดับการเผาผลาญลงโดยอัตโนมัติเมื่อได้รับอาหารน้อยลง รวมทั้งช่วยเร่งอัตราการเผาผลาญใช้พลังงานของเซลล์กล้ามเนื้อให้เพิ่มขึ้น ผ่านกระบวนการหมุนเวียนแคลเซียมในระดับสูง
.
ผลการวิจัยก่อนหน้านี้ยังพบว่า ฮอร์โมน GDF15 ทำให้หนูทดลองอยากกินอาหารไขมันสูงน้อยลง ทำให้ทีมผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์เสนอว่า ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาวิธีการต่าง ๆ มากระตุ้นการส่งสัญญาณชีวเคมีที่ผลักดันให้ฮอร์โมน GDF15 ซึ่งตับและไตของคนเราสามารถผลิตได้เองอยู่แล้วตามธรรมชาติ มีโอกาสหลั่งออกมาเพิ่มขึ้นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
ดร. เกรกอรี สไตน์เบิร์ก นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์บอกว่า การคิดค้นยาที่จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน GDF15 และนำมาใช้ร่วมกับยาลดความอ้วนที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะช่วยได้ทั้งลดความอยากอาหารและเร่งอัตราการเผาผลาญใช้พลังงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้คนอ้วนมีโอกาสลดน้ำหนักได้สำเร็จมากกว่าการใช้วิธีควบคุมอาหารและออกกำลังกายแบบเดิม ๆ
.
อย่างไรก็ตามทีมผู้วิจัยบอกว่า ยังคงต้องรออีกระยะหนึ่งกว่าที่จะมีการศึกษาทดลองเรื่องนี้กับมนุษย์ได้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เนื่องจากฮอร์โมน GDF15 นั้น มักจะถูกผลิตเพิ่มขึ้นในร่างกายของสตรีมีครรภ์ โดยมีความเกี่ยวข้องกับอาการแพ้ท้องด้วย
.
ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ประมาณการว่า ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคอ้วนเพิ่มขึ้นไปถึงเกือบ 1,000 ล้านคน ภายในปี 2030 ซึ่งจะพลอยทำให้มีผู้ป่วยโรคเมตาบอลิกหรือระบบการเผาผลาญทำงานผิดปกติ อย่างเช่นโรคเบาหวานประเภทที่สอง (type 2 diabetes) เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cmj4n425n78o