การตรวจหาเชื้อซาลโมเนลลาในผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ดิบ เป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกเนื้อไก่ในยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเกณฑ์มาตรฐานเนื้อไก่ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่หลายประเทศใช้ในปัจจุบัน ระบุว่าหากตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลาแม้เพียงเซลล์เดียว ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ดิบทั้งหมดในตู้คอนเทนเนอร์นั้นจะต้องถูกส่งกลับ และอาจส่งผลให้โรงงานต้องหยุดสายการผลิต เพื่อฆ่าเชื้อทำความสะอาด และจะต้องผ่านการตรวจเพื่อรับรองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจนแน่ใจ จึงจะสามารถเริ่มการผลิตได้อีกครั้ง ซึ่งนั่นถือเป็นความสูญเสียของผู้ประกอบการแต่ละราย และอาจรวมถึงความเชื่อมั่นของคู่ค้าและภาพลักษณ์ของประเทศต่อผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ของไทยในภาพรวม
.
ดังนั้น
.
การเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ (Plate Count Method) จึงเป็นวิธีการมาตรฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกเนื้อไก่ นำมาใช้ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพราะเป็นวิธีการที่มีความแม่นยำสูง และทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง คือประมาณ 300 บาทต่อตัวอย่างแล้ว กว่าที่เชื้อจุลินทรีย์ที่เพาะไว้จะเพิ่มปริมาณมากพอและทราบผลก็ต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ซึ่งหากมีการตรวจเจอเชื้อซาลโมเนลลาในตัวอย่างใดก็ตามแม้เพียงเซลล์เดียว จะถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ในสายการผลิตเดียวกันที่รอการส่งออกอยู่ในตู้แช่แข็งหรือตู้แช่เย็นมา 5 วันนั้น “มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลา” ด้วยเช่นกัน และไม่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกนำไก่แช่แข็งที่เก็บไว้ในตู้แช่แข็งทั้งหมดออกมาผ่านกระบวนการล้างทำความสะอาดเพื่อตรวจผลซ้ำอีกครั้ง หรือเปลี่ยนไปปรุงสุกเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นแทน (เช่น ไก่ทอด ไก่คาราเกะ) ก็ล้วนแต่มี “ต้นทุน” ที่เกิดขึ้นจากการรอผลการเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ทั้งสิ้น
.
ทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาคือ การนำวิธีการตรวจแบบรวดเร็ว หรือ Rapid Test ที่มีความแม่นยำในการตรวจต่ำกว่า แต่ทราบผลได้เร็วกว่า มาช่วยแยกเนื้อไก่ที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนออกไปจัดการต่อได้เร็วขึ้น ซึ่งแม้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแช่งแข็งลงมาได้บ้าง แต่การตรวจแบบรวดเร็วในปัจจุบัน ก็ยังใช้เวลารอผล 1-2 วัน
.
จึงเป็นที่มาของ “นวัตกรรมชุดตรวจวัดเชื้อซาลโมเนลลาแบบรวดเร็วสำหรับอุตสาหกรรม” ผลงานของทีมวิจัยจาก ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม (Applied Science and Engineering for Social Solution Research Center: ASESS Research Center) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ สาขาผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 โดยมีจุดเด่นที่สำคัญคือ สามารถลดระยะเวลาการตรวจเชื้อจาก 3-5 วัน เหลือเพียง 1 ชั่วโมง
.
ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัย ASESS ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า หลักการทำงานเบื้องต้นของชุดตรวจนี้คือ การออกแบบสารชีวโมเลกุลที่มีความจำเพาะกับตัวเชื้อซาลโมเนลลาเท่านั้นเรียกว่า “Seeker Powder” และการพัฒนาอนุภาคนาโนโลหะสำหรับขยายสัญญาณทางแสงที่เรียกว่า “Nano Amplifier” เพื่อทำงานร่วมกับ “เครื่องรามานสเปกโตรมิเตอร์ (Raman Spectrometer)”
.
“ในส่วนของ Seeker Powder เมื่อเราผสม Seeker Powder ลงไปในน้ำล้างไก่ที่มีเชื้อซาลโมเนลลา ก็จะเกิดการจับกันระหว่างแขนข้างหนึ่งของ Seeker Power กับเชื้อซาลโมเนลลา ส่วนแขนอีกข้างจะถูกติดไว้กับสิ่งที่เรียกว่า Reporter โดยหลังจากผสมกันแล้ว จะทำการแยกตะกอนออกมา แล้วนำไป “ตรวจวัดสัญญาณรามานของ Reporter ที่จับกับเชื้อไว้แล้ว” ด้วยการยิงแสงเลเซอร์จากเครื่องรามานสเปกโตรมิเตอร์ลงไป ทำให้เกิดการกระเจิงแสงจาก Reporter ซึ่งสเปกตรัมที่ได้ (สัญญาณรามาน) จะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของ Reporter แสดงว่าตัวอย่างนั้นมีการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลลา”
.
แต่หากเชื้อซาลโมเนลลามีจำนวนน้อย ความเข้มของสัญญาณรามานจะต่ำมาก จนเครื่องตรวจอาจไม่พบ ทีมวิจัยของ ASESS ก็ได้มีพัฒนา “Nano Amplifier” มาช่วยในการขยายสัญญาณรามาน ให้สามารถตรวจพบได้
.
“Nano Amplifier จะทำหน้าที่ขยายสัญญาณรามานของ Reporter ให้สูงขึ้น จนเพียงพอที่จะตรวจวัดได้ ซึ่งจากความรู้และประสบการณ์การใช้เครื่อง Raman กับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ของ ASESS ในช่วงก่อนหน้า ทำให้เราสามารถพัฒนา Nano Amplifier ที่สามารถขยายสัญญาณสเปกตรัมของ Reporter ใน Seeker Power เพื่อตรวจหาเชื้อซาลโมเนลลาได้สำเร็จ” ... ผศ. ดร.ไตรวิทย์ รัตนโรจน์พงศ์ นักวิจัยร่วมอีกท่าน ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนา Nano Amplifier ในงานนี้
.
นายอภิวัฒน์ เพ็ชรสหาย นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ผู้ช่วยวิจัยของศูนย์วิจัย ASESS มาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ป.ตรี กล่าวว่า จุดเด่นของนวัตกรรมที่นำเทคนิคการวิเคราะห์สัญญาณทางแสงมาใช้ตรวจวัดเชื้อซาลโมเนลลาได้สำเร็จชิ้นนี้ นอกจากจะลดระยะเวลาของการตรวจแบบรวดเร็ว จาก 1-2 วัน เหลือเพียง 1 ชั่วโมงได้แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 39 บาทต่อตัวอย่าง (Rapid test อื่นๆ จะมีค่าใช้จ่ายตัวอย่างละประมาณ 100 บาท) ที่สำคัญคือ สามารถตรวจพบเชื้อได้แม้มีปริมาณเชื้อน้อย (9 CFU/ml) และมีค่าความถูกต้อง 97% และความแม่นยำ 98% ซึ่งสูงมากสำหรับวิธีการตรวจแบบรวดเร็ว
.
ผศ. ดร.เขมฤทัย กล่าวสรุปว่า สิ่งที่คณะวิจัยกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การทำความร่วมมือผู้ประกอบการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็ง เพื่อขยายผลจากงานวิจัยสู่การใช้จริงภายในโรงงาน รวมถึง ดร.พิทักษ์ เอี่ยมชัย อีกหนึ่งในผู้ร่วมโครงการวิจัยนี้ ได้ร่วมกับทีมวิจัยเทคโนโลยีเซนเซอร์แสงไฟฟ้าเคมี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการวิจัยและพัฒนาเครื่อง Raman Spectrometer ขึ้นเองเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยในที่สุด
.
ซาลโมเนลลา (Salmonella) เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบจะพบในสัตว์ปีก ซึ่งหากไม่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และอื่นๆ ตามมา
ที่่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000063611