Author : กองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ
Sourceฉลาดซื้อ 25, 215 (ม.ค. 2562) 36-39
Abstract : ปูแสมและปูนา เป็นปูที่นิยมนำมาทำปูดองเค็มใส่ส้มตำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนใหญ่จะเป็นปูแสมและยังมีการนำเข้ามาจากประเทศเมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนปูนาที่นำมาดอง ส่วนใหญ่จะใช้ปูเลี้ยง มีการสุ่มตัวอย่างปูนาดองเค็ม ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากตลาดสด 14 แห่ง จำนวน 16 ตัวอย่าง ในวันที่ 19-20 ธันวาคม 2561 เพื่อวิเคราะห์หาพาราควอต ผลการวิเคราะห์ไม่พบการตกค้างของพาราควอตทุกตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม ปูนาเป็นปูน้ำจืด ซึ่งกินอาหารทั้งในดินและในน้ำ จึงอาจพบปลิงหรือพยาธิ เช่น พยาธิตัวจี๊ด หรือพยาธิใบไม้ในปอด การบริโภคปูดิบจึงมีโอกาสที่ได้รับไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิเหล่านี้ ดังนั้นควรทำปูนาให้สุกก่อนรับประทาน

Subjectปูนา -- พาราควอต. ปูนา.

Author : pr team, นามแฝง.
Source : วารสารกรมบังคับคดี 22, 116 (ก.ย.-ต.ค. 2561) 45-48
Abstract : อาการร้อนในหรืออาการที่ความร้อนในร่างกายไม่สมดุลกัน ส่งผลให้เกิดแผลในช่องปากและลิ้น สาเหตุหลักที่สำคัญของอาการร้อนในเกิดจากอาหาร ซึ่งอาหารที่รับประทานเพื่อแก้อาการร้อนในมักเป็นอาหารที่ทำให้รู้สึกชุ่มคอ เช่น กล้วย ถั่วเขียว แตงกวา มะเขือเทศ น้ำมะพร้าว วิธีการป้องกันอาการร้อนในที่นิยม คือ การดื่มเครื่องดื่มสมุนไพร อาทิ น้ำจับเลี้ยง น้ำหล่อฮั้งก้วย น้ำมะตูม น้ำใบบัวบก น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น.


Subject : เครื่องดื่ม. เครื่องดื่มสมุนไพร.

Author : กฤช เหลือลมัย.
Source : เทคโนโลยีชาวบ้าน 32, 706 (1 พ.ย. 2562) 118-119
Abstract : พริกแกง หมายถึง เครื่องปรุงที่มีสมุนไพรทั้งแห้งและสด รวมทั้งพริกเอามาตำในครกจนละเอียดแล้วจึงเอาไป “แกง” หรือปรุงต่อเป็นกับข้าวอื่นอีกหลายอย่าง ซึ่งพริกแกงที่มีส่วนประกอบของพริก พริกไทย หอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวลูกมะกรูด ในบางพื้นที่ที่มีสมุนไพรเฉพาะถิ่น ก็มีการเพิ่มเข้าไปในพริกแกงด้วย ตามแต่รสนิยมการกิน ต่อมาส่วนผสมของพริกแกงมีความซับซ้อนมากขึ้นตามเวลา วัตถุดิบที่หาได้ หรือการอยากรู้อยากลองของคนครัวในแต่ละยุค ซึ่งพริกแกงแต่ละชนิดมีลักษณะของสี รส ความหยาบ-ละเอียด แตกต่างกัน การเรียกชื่อพริกแกง จึงเรียกตามลักษณะหรือเรียกตามวิธีปรุงแกงนั้นๆ.


Subject : น้ำพริกแกง. น้ำพริกแกง – สมุนไพร.

Author : ประพจน์ เภตรากาศ
Sourceฉลาดซื้อ 25, 215 (ม.ค. 2562) 62-63
Abstract : เกลือหิมาลัยเป็นเกลือภูเขามาจากรัฐปัญจาบ ประเทศปากีสถาน เกลือหิมาลัยมีอายุเก่าแก่ 100-200 ล้านปี มีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายเกลือทะเล ประกอบด้วยโซเดียมคลอไรด์ร้อยละ 98 ที่เหลือเป็นโพแทสเซียม แมกนีเซียมและแคลเซียม ทำให้มีสีชมพูอ่อน และมีรสชาติแตกต่างจากเกลือทะเล มีการนำมาใช้ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร แผ่นหรือก้อนเกลือใช้เป็นจานใส่อาหาร ใช้อาบ นำมาทำตะเกียงหรือโคมไฟ มีการโฆษณาประโยชน์ของเกลือหิมาลัยอย่างมากมาย เช่น ช่วยระบบไหลเวียนของเลือด ชะลอความแก่ ลดความดันเลือด ฯลฯ ซึ่งยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแร่ธาตุที่เป็นอันตรายอยู่ด้วย เช่น ปรอท ยาฆ่าหนู ตะกั่ว และสารกัมมันตรังสี เช่น เรเดียม ยูเรเนียม เป็นต้น

Subjectเกลือหิมาลัย. เกลือหิมาลัย -- ประโยชน์.